ชุดกรอบไม้เครื่องแต่งกาย

อุปกรณ์

กรอบไม้เครื่องแต่งกายแถบผ้าตีนตุ๊กแกที่มีแถบติดประมานสี่แถบ

จุดประสงค์โดยตรง

เพื่อสอนให้เด็กสามารถใช้เครื่องแต่งกายที่มีแถบติดเป็นผ้าตีนตุ๊กแกได้

จุดประสงค์โดยอ้อม

  • เพื่อพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของมือและตา
  • เพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญของกล้ามเนื้อต่างๆ
  • เพื่อฝึกสมาธิ
  • เพื่อพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองและการเห็นคุณค่าในตนเอง

กลไกควบคุมความผิดพลาด

สายตา – กรอบไม้เครื่องแต่งกายจะดูไม่เรียบเข้าที่เข้าทางถ้าติดผิด

คำศัพท์ที่ได้

ผ้าตีนตุ๊กแก แถบ ดึง กดลง

ระดับอายุ

ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

การแนะนำ

               กิจกรรมนี้เป็นการแนะนำรายบุคคล ชักชวนให้เด็กเดินตามไปที่ชั้นวางสื่อ แนะนำชื่อสื่อและกิจกรรมให้เด็กทราบแล้วหยิบอุปกรณ์ไปที่โต๊ะ โดยใช้ทั้งสองมือจับ เหมือนลักษณะการถือถาดวางอุปกรณ์ลงบนโต๊ะ แล้วนั่งลงข้างๆเด็ก กล่าวกับเด็กว่า “ครูจะสาธิตวิธีการแกะและติดแถบผ้าตีนตุ๊กแก ดูครูก่อนแล้วเดี๋ยวครูจะให้ลองทำ” 

  • เริ่มจากแถบบนสุดก่อน จับอุปกรณ์โดยการใช้ฝ่ามือข้างที่ไม่ถนัดวางกดไว้ใกล้ๆกับขอบผ้า
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มืออีกข้างจับแถบผ้าที่ที่จะแกะ แล้วดึงออก ทำเช่นเดียวกันนี้กับแถบอื่นๆที่เหลือตามลำดับ
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลางของมือข้างที่ถนัดจับแถบผ้าด้านบนเปิดออก เพื่อให้เห็นรูเล็กๆตามแถบผ้าตีนตุ๊กแก
  • ใช้นิ้วทั้งสามเช่นเดียวกันของมืออีกข้างจับแถบผ้าตีนตุ๊กแกชิ้นล่างเปิดออกเช่นกัน
  • ทำเช่นเดียวกันนี้กับแถบที่เหลือให้หมดตามลำดับ
  • เปิดผืนผ้าทั้งสองออกจากกัน แล้ววางมือไว้บนโต๊ะสักครู่ เพื่อให้เด็กเห็น
  • ใช้นิ้วทั้งสามของมือแต่ละข้างจับขอบผ้าทั้งสองด้าน ปิดกลับเข้าที่เดิม
  • ติดแถบผ้าเข้าที่ เช่นเดิม ด้วยวิธีการเดียวกันตามลำดับ คือเริ่มจากแถบผ้าชิ้นบนสุดก่อน เมื่อติดแถบผ้าครบแล้วใช้ฝ่ามือข้างที่ถนัด กดรีดแถบผ้าทั้งหมดให้เรียบ
  • ชักชวนเด็กให้ลองทำ เมื่อเด็กทำเสร็จแล้ว เตือนให้เด็กนำอุปกรณ์ไปเก็บไว้ที่เดิม

แบบฝึกหัด

เด็กเลือกที่จะทำกิจกรรมกับอุปกรณ์ชิ้นนี้เมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ

จุดสำคัญ

เสียงแถบผ้าที่ถูกดึง

ขั้นต่อไป

เด็กอาจดึงแถบผ้าตีนตุ๊กแกกับเครื่องแต่งกายของตนเอง เช่นรองเท้า หรือ เสื้อผ้า